ห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตย กกต.

ความเป็นมาของการจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยและห้องสมุดกลาง พ.ศ. 2551-2552 เป็นช่วงระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ กล่าวคือ เป็นช่วงเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างเด่นชัดที่จะมุ่งไปสู่การทำให้การเลือกตั้งมีความสุจริต โปร่งใสและเที่ยงธรรม ด้วยการจัดตั้งห้องสมุด จำนวน 15 แห่ง ประกอบด้วย “ห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตย” ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จำนวน 14 แห่งคือ จังหวัดกำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชลบุรี ชัยภูมิ ตาก น่าน ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ อุทัยธานี และ อุบลราชธานี “ ห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตย กกต. (Election Commission of Thailand Library)” หรือ “ห้องสมุดกลาง” ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยกำหนดแนวความคิดให้ห้องสมุดเป็น “นวัตกรรม” ในการส่งเสริมและสนับสนุนการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งตามปรัชญา แนวคิดของชาวอเมริกันนั้น ห้องสมุดคือสถาบัน ประชาธิปไตยอันมีความจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะห้องสมุดคือสถาบันที่จะช่วยให้เกิดเสรีภาพ ให้คนฉลาดและหลุดพ้นจากความยากจน ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ราษฎรจะต้องเป็นมีสติปัญญาและความรอบรู้ ซึ่งนอกจากการศึกษาในโรงเรียนแล้ว พวกเขาจะต้องมีโอกาสได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากห้องสมุดอีกด้วย ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งเกิดจากปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งคือ ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในอำนาจอธิปไตยของตนว่าสูงค่าเพียงใด การที่จะมอบอำนาจอธิปไตยให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปใช้แทนตนนั้น ก่อให้เกิดผลต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติอย่างไร หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าประชาชนยังขาดความรู้ ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ได้มีวิถีชีวิตประชาธิปไตย ดังนั้นต้นน้ำแห่งการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม อันนำไปสู่การเป็นการเมืองที่ดีก็คือ การให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา แล้วนำไปปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวัน ดังเช่นประเทศในซีกโลกตะวันตกที่มีความเจริญในการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตยได้นั้น ก็ล้วนเกิดจากการให้ความรู้และการศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่ประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงให้ความสำคัญในการจัดตั้งห้องสมุด จำนวน 15 แห่งดังกล่าว โดยจัดตั้งเป็น “ห้องสมุดเฉพาะ” ด้านกฎหมาย การเมืองการปกครอง การเลือกการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งนักเรียน นักศึกษา เยาวชน นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น บุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ตลอดจนประชาชนทั่วไป ความมุ่งหมายในการจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยและห้องสมุดกลาง ความมุ่งหมายในการจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยและห้องสมุดกลาง คือ จัดตั้งห้องสมุดฯ ให้เป็น “ห้องสมุดประชาชนประเภทห้องสมุดเฉพาะ” เพื่อ 1 เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยการเลือกตั้ง และการพิจารณาวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง อย่างละเอียด ลึกซึ้ง 2 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการให้การศึกษาและประสบการณ์ประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันแก่ประชาชน ให้ประชาชนเข้าใจและมีความเลื่อมใส ศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งภารกิจเหล่านี้ล้วนปันอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 236 (8) อันเป็นหนทางที่จะก่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมในท้ายที่สุด ข้อสังเกตจากการกำหนดความมุ่งหมาย 1.ห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยและห้องสมุดกลาง เป็น “ห้องสมุดประชาชน” หมายความว่า เป็นห้องสมุดที่ให้บริการแก่ประชาชนโดยมิได้เรียกร้องค่าตอบแทน และห้องสมุดนี้เปิดใช้ประชาชนทุกวัย ทุกกลุ่ม ได้มีโอกาสแสวงหาความรู้ให้แก่ตนเองในเรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและ การเลือกตั้ง 2.ห้องสมุดนี้เป็น “ห้องสมุดเฉพาะ” หมายความว่า เป็นห้องสมุดที่เก็บรวบรวมสารสนเทศ มุ่งในเรื่องเฉพาะที่เป็นภารกิจของคณะกรรมการการเลือกตั้งคือ การจัดการเลือกตั้ง ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และการส่งเสริม สนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเลือกตั้งการกำหนดความมุ่งหมายในเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนและพนักงานการเลือกตั้งทุกคนจะได้รับประโยชน์สูงสุด ในการที่จะมีแหล่งศึกษา ค้นคว้าที่สมบูรณ์และใกล้ตัวมากที่สุด ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของพนักงานฯ ที่ต้องปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ทั้งงานการจัดการเลือกตั้งและงานการส่งเสริม สนับสนุน การให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น “ห้องสมุดเฉพาะ” นี้จะช่วยให้พนักงานฯ ได้พัฒนาตนเอง เพื่อให้มีคุณภาพ มีการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในท้ายที่สุดด้วย วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยและห้องสมุดกลาง 1.เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและ การเลือกตั้ง ทั้งด้านปรัชญา งานที่สร้างสรรค์ด้วยความคิด ตำรา เอกสารวิจัย และประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งที่เป็นสิ่งตีพิมพ์และวัสดุอื่นๆ วัสดุเหล่านี้จะถูกเลือกสรรเข้ามาไว้ในห้องสมุดฯ อย่างทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้ใช้ โดยมีการจัดการที่เป็นระบบ เพื่อจัดการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ โดยห้องสมุดฯ มีทั้งรูปแบบ “Manual Library” และจะมีการนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ จัดทำเป็นห้องสมุดฯ ในรูปแบบ “Electronic Library หรือ E-Library” ด้วย 2.เพื่อเป็นแหล่งปลูกฝังความรับผิดชอบทางการเมือง สนับสนุน กระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้ามาศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง โดยจัดหรือส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมด้านการศึกษาต่างๆ เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังความรับผิดชอบทางการเมืองแก่ประชาชนให้ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และหวงแหนอำนาจอธิปไตยของตน 3.เพื่อให้มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประชาธิปไตยเป็นประจำ เพื่อให้ผู้ชมเกิดความศรัทธาในประชาธิปไตย โดยคิดค้นรูปแบบการนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เป็นนามธรรม (ซึ่งประชาชนเข้าใจยาก) ให้กลายเป็นรูปธรรมที่สลับซับซ้อน อันจะส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย ด้วยเวลา ไม่มากนัก 4.เพื่อให้มีการระดมความคิดตามแนวทางประชาธิปไตย สร้างสรรค์องค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม นั่นเอง การดำเนินการจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยและห้องสมุดกลาง การดำเนินการจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยและห้องสมุดกลาง ในเบื่องต้นได้จัดตั้ง ณ จังหวัดที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งในปีงบประมาร พ.ศ. 2551-2552 มีจำนวน 15 แห่ง ทุกแห่งได้เปิดให้บริการแล้ว ดังปรากฏรายละเอียดคือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตาก มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุบลราชธานี มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชัยภูมิ มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดร้อยเอ็ด มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่น มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุทัยธานี มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลย มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดน่าน มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดศรีสะเกษ มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจันทบุรี มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำแพงเพชร มีพิธีเปิดห้องสมุดฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีพิธีเปิดห้องสมุดกลาง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ทั้งนี้ การดำเนินงานจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยและห้องสมุดกลางดำเนินการ ในรูปแบบคณะกรรมการ ภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตย กกต. ประจำจังหวัด” ประกอบด้วย นาย สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานกรรมการ นายพนม พงษ์ไพบูล ที่ปรึกษาประจำกรรมการการเลือกตั้ง (นายสุเมธ อุปนิสากร) เป็นที่ปรึกษา นายภุชงค์ นุตราวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการ มีส่วนร่วม เป็นรองประธานกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้บริหาร และพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ สำหรับการดำเนินงานขับเคลื่อนกิจกรรมห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตยในแต่ละจังหวัด ก็ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการเช่นกัน ภายใต้ชื่อ “คณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการจัดตั้งห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด...” (ชื่อจังหวัดนั้นๆ) โดยมีบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดนั้น เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ ได้แก่ บุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด บุคลากรของสถาบันศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัดเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ การดำเนินงานของห้องสมุด ห้องสมุดและนิทรรศการประชาธิปไตย เป็นห้องสมุดเฉพาะซึ่งจัดตั้งเพื่อบริการแก่หน่วยงานราชการและบุคคลทั่วไป เป็นที่รวบรวมหนังสือ เอกสารและสิ่งตีพิมพ์ กฎหมาย คอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ การดำเนินงานแบ่งเป็นขั้นตอน ดังนี้ 1.จัดหาหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆและสาขาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยการจัดซื้อ ขอรับบริจาค แลกเปลี่ยน และการบอกรับเป็นสมาชิกทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ 2.ลงทะเบียนหนังสือ วารสาร จัดหมวดหมู่หนังสือ เอกสาร / รายงานและการนำเข้าระบบ 3.ปัจจุบันห้องสมุดมีทรัพยากรสารสนเทศประมาณ 16,583 ใช้ระบบการจัดเก็บแบบชั้นเปิด โดยแยกจากหนังสือตามประเภท การจัดหาหนังสือ หนังสือตำราเรียนส่วนใหญ่ และวารสารบางส่วนสั่งซื้อ หรือ บอกรับด้วยเงินงบประมาณประจำปีที่ได้รับส่วนรายงาน หรือ ได้รับบริจาค และวารสารบางส่วนได้รับโดยการแลกเปลี่ยน ระหว่างหน่วยงานอื่น บุคคลากร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานห้องสมุดประกอบด้วย 1. เจ้าหน้าที่ห้องสมุด 1 คน (ผู้ช่วยบรรณารักษ์) การให้บริการ กำหนดเวลาให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เวลา 09.00 – 15.00 น. ยกเว้นวันเสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ ขอบข่ายการให้บริการ 1. บริการของห้องสมุด ได้แก่ บริการให้นั่งอ่านและค้นคว้า ตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าทางอินทราเน็ต บริการยืม – คืน บริการจอง บริการหนังสือทั่วไป บริการหนังสืออ้างอิง บริการข้อมูลทางวิชาการ บริการวารสารและหนังสือพิมพ์ บริการหนังสือวิจัย บริการยืมระหว่างห้องสมุด บริการแนะนำรายชื่อหนังสือ เอกสาร ซีดี – รอม ผู้มีสิทธิใช้บริการ ได้แก่ 1.1 ข้าราชการและลูกจ้างประจำของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1.2 ลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1.3 นักเรียน นิสิต – นักศึกษา และประชาชนทั่วไป 2. การยืม – คืน หนังสือ รายงานของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ วารสาร ซีดี – รอม และเอกสารอื่นๆ ผู้มีสิทธิยืม ได้แก่ 1.1 ข้าราชการและลูกจ้างประจำของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1.2 ลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1.3 นักเรียน นิสิต – นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อกำหนดการให้บริการ ระเบียบในการยืม – คืน มีดังนี้ 1.ข้าราชการและลูกจ้าง รวมถึงลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1.1 หนังสือทั่วไปยืมได้ไม่เกิน 7 เล่ม โดยมีระยะเวลาการยืมแต่ละเล่มไม่เกิน 1 สัปดาห์ 1.2 วารสาร จุลสาร ยืมได้เฉพาะฉบับย้อนหลังจำนวนไม่เกิน 5 เล่ม ระยะเวลาการยืมแต่ละเล่มไม่เกิน 1 สัปดาห์ 1.3 ซีดี – รอม ยืมได้ครั้งละไม่เกิน 5 แผ่น ระยะเวลาการยืมแต่ละแผ่นไม่เกิน 1 สัปดาห์ 1.4 การครอบครองหนังสือและเอกสารทุกชนิด ผู้ยืมจะครอบครองได้ไม่เกินคนละ 7 เล่ม ต่อครั้ง 1.5 เมื่อครบกำหนดคืน หากมีความประสงค์จะยืมต่อให้ต่ออายุการยืมได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 สัปดาห์ เว้นแต่จะมีผู้จองเพื่อยืมหนังสือเอกสารดังกล่าวไว้แล้ว 1.6 การนำหนังสือหรือเอกสารออกจากห้องสมุดจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดก่อนทุกครั้ง 1.7 เอกสารศึกษาส่วนบุคคล พตส. IS ให้อนุญาตยืมได้ไม่เกิน 3 เล่ม/1วัน หากจะยืมไปถ่ายเอกสาร ให้แจ้งเจ้าหน้าที่/บรรณารักษ์ และแนบบัตรประชาชน/บัตรข้าราชการ/บัตรพนักงาน/หรือไม่ขับขี่ หากไม่แสดงบัตรจะไม่อนุญาตให้ยืม 2.นักเรียน นิสิต – นักศึกษา และประชาชนทั่วไป 1.1 หนังสือทั่วไปยืมได้ไม่เกิน 5 เล่ม โดยมีระยะเวลาการยืมแต่ละเล่มไม่เกิน 1 สัปดาห์ 1.2 วารสาร จุลสาร ยืมได้เฉพาะฉบับย้อนหลังจำนวนไม่เกิน 5 เล่ม ระยะเวลาการยืมแต่ละเล่มไม่เกิน 1 สัปดาห์ 1.3 ซีดี – รอม ยืมได้ครั้งละไม่เกิน 5 แผ่น ระยะเวลาการยืมแต่ละแผ่นไม่เกิน 1 สัปดาห์ 1.4 การครอบครองหนังสือและเอกสารทุกชนิด ผู้ยืมจะครอบครองได้ไม่เกินคนละ 5 เล่ม ต่อครั้ง 1.5 เมื่อครบกำหนดคืน หากมีความประสงค์จะยืมต่อให้ต่ออายุการยืมได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 สัปดาห์ เว้นแต่จะมีผู้จองเพื่อยืมหนังสือเอกสารดังกล่าวไว้แล้ว 1.6 การนำหนังสือหรือเอกสารออกจากห้องสมุดจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดก่อนทุกครั้ง1.7 เอกสารศึกษาส่วนบุคคล พตส. IS ให้อนุญาตยืมได้ไม่เกิน 3 เล่ม/1วัน หากจะยืมไปถ่ายเอกสารให้ แจ้งเจ้าหน้าที่/บรรณารักษ์ และแนบบัตรประชาชน/บัตรข้าราชการ/บัตรพนักงาน/หรือไม่ขับขี่หาก ไม่แสดงบัตรจะไม่อนุญาตให้ยืม